พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ (1 มีนาคม พ.ศ. 2452 — 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2503) อดีตอธิบดีกรมตำรวจ พ.ศ. 2494 - 2500 เจ้าของคำขวัญ "ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ในทางที่ไม่ขัดต่อศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและกฎหมายบ้านเมือง" เป็นบุคคลหนึ่งที่มีบทบาททางการเมืองสูงมากในช่วงก่อนการรัฐประหาร พ.ศ. 2500
พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2452 ณ ตำบลบางขุนพรหม อำเภอบางขุนพรหม จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของ พันตำรวจโท พระพลาพิรักษ์เสนีย์ (พลุ้ย ศรียานนท์) และนางพงษ์ ศรียานนท์ ครอบครัวมีเชื้อสายพม่า สมรสกับคุณหญิงอุดมลักษณ์ ศรียานนท์ (สกุลเดิม: ชุณหะวัณ) บุตรสาวของจอมพลผิน ชุณหะวัณ
สอบไล่ได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนเบญจมบพิตร หรือ โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร ในปัจจุบัน ต่อมาสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อ พ.ศ. 2469
พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นนายตำรวจที่ประชาชนชาวไทยในยุคสมัยนั้นรู้จักเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นเสมือนมือขวาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น นายกรัฐมนตรีเผด็จการทหารในสมัยนั้น เริ่มแรก พล.ต.อ.เผ่านั้นรับราชการเป็นทหารมาก่อน ก่อนจะย้ายตัวเองมาเป็นตำรวจ
ยุคของพล.ต.อ.เผ่านั้น ถูกเรียกว่ายุค "รัฐตำรวจ" หรือ "อัศวินผยอง" เนื่องจาก พล.ต.อ.เผ่า ได้เสริมสร้างขุมกำลังตำรวจจนสามารถเทียบเท่ากับกองทัพ ๆ หนึ่งเหมือนทหารได้ โดยเริ่มให้มี ตำรวจน้ำ, ตำรวจพลร่ม, ตำรวจม้า, ตำรวจรถถัง ตลอดจนให้มีธงไชยเฉลิมพลเหมือนทหาร จนมีการกล่าวในเชิงประชดว่า อาจจะมีถึงตำรวจเรือดำน้ำ เป็นต้น โดยประโยคที่สะท้อนให้เห็นถึงตัวตนของตำรวจในสมัยนั้น ซึ่งเป็นประโยคของพล.ต.อ.เผ่าเอง คือ "ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ในทางที่ไม่ขัดต่อศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและกฎหมายบ้านเมือง" จนได้รับฉายาจากสื่อต่างประเทศว่า "บุรุษเหล็กแห่งเอเซีย"
ในทางการเมือง พล.ต.อ.เผ่า มีฐานะเป็นเลขาธิการพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ถูกกล่าวว่าสกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะมีตั้งแต่การข่มขู่ผู้ลงคะแนนให้เลือกแต่พรรคเสรีมนังคศิลา มีการเวียนเทียนลงคะแนนกันหลายรอบ ที่เรียกว่า พลร่ม หรือ ไพ่ไฟ และนับคะแนนกันถึง 7 วัน 7 คืน โดยในยุคนั้นประชาชนทุกคนต่างรู้ดีว่า ไม่ควรจะกระทำการใดต่อต้านอำนาจรัฐเพราะอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น กรณีสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรีที่ถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 13 เมื่อปี พ.ศ. 2492 หลังเหตุการณ์กบฏวังหลวง หรือการจับถ่วงน้ำ นายหะยีสุหรง อับดุลกาเดร์ ผู้นำอิสลามจังหวัดปัตตานี ที่ทะเลสาบสงขลา เป็นต้น ล้วนแต่เป็นฝีมือตำรวจ โดย พล.ต.อ.เผ่า และเป็นที่รับรู้กันว่าตำรวจเป็นผู้เลี้ยงบรรดานักเลง อันธพาลในยุคนั้นเป็นลูกน้องด้วย ซึ่งเรียกกันว่า "นักเลงเก้ายอด" อันมาจากการที่นักเลงอันธพาลเหล่านั้นสามารถเข้าออกกองบัญชาการตำรวจกองปราบที่สามยอดได้โดยสบาย ซึ่งทำให้เหล่านักเลงอันธพาลเกลื่อนเมือง
จากเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้กลุ่มนายทหารที่นำโดย พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่พอใจ โดยเริ่มทำการปราศรัยโจมตีตำรวจที่ท้องสนามหลวงบนลังสบู่ ที่เริ่มกันว่า "ไฮปาร์ค" และทางตำรวจก็ตอบโต้ด้วยการไฮปาร์คบ้าง จนในที่สุดนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ซึ่งเหตุการณ์ในวันนั้น พล.ต.อ.เผ่า ยังไม่ได้หลบหนีไปต่างประเทศเหมือนจอมพล ป. แต่ยอมเข้ามอบตัวแต่โดยดี โดยกล่าวว่า "อั๊วมาแล้ว จะเอายังไงก็ว่ามา"
วันรุ่งขึ้น พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ได้ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พล.ต.อ.เผ่า มีทรัพย์สินอยู่มากมาย มีคฤหาสน์หลังใหญ่ติดทะเลสาบที่นครเจนีวา จนครั้งหนึ่งเมื่อนิตยสารต่างประเทศฉบับหนึ่งจัดอันดับมหาเศรษฐี 10 อันดับของโลก ก็มีชื่อของ พล.ต.อ.เผ่า ติดอยู่ในอันดับด้วย
พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหัวใจวายเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2503 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สิริอายุ 52 ปี
หลวงรัถยาภิบาลบัญชา (เอส.เย.เอมส์) • พระยาอรรคราชวราทร (ภัสดา บุรณศิริ) • เอ.เย.ยาดิน • อีริกเซ็นต์ เย ลอสัน • พระยาวาสุเทพ (กุสตาฟ เชา)
ประชา พรหมนอก • พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ • สันต์ ศรุตานนท์ • โกวิท วัฒนะ • เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส • พัชรวาท วงษ์สุวรรณ • วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี • เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ • อดุลย์ แสงสิงแก้ว • สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง • จักรทิพย์ ชัยจินดา